1.ควรเลือกซื้อปลาในเวลากลางวัน
เนื่องจากจะสังเกตสีสันที่แท้จริงของปลาได้ดี
แต่ในปัจจุบันการจัดตู้ปลามีความทันสมัยมากขึ้น
โดยร้านขายปลาสวยงามมักจะติดหลอดไฟพวกแสงสะท้อน
แล้วเปิดไว้ตลอดเวลาเพื่อทำให้เห็นปลามีสีสดใสมากกว่าที่เป็นจริง
2.สังเกตสภาพของตัวปลา คือ
เลือกปลาที่ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำ เช่น เกล็ดหลุด ครีบแหว่ง หรือมีแผลตามลำตัว
เพราะอาจเป็นปลาที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการลำเลียง
หรือมีการระบาดของโรคพยาธิเกิดขึ้น
ถ้าเลือกซื้อปลาที่บอบช้ำมาเลี้ยงอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้
ยิ่งถ้ามีการระบาดของโรคพยาธิอยู่แล้ว ปลาที่เลือกซื้อมาก็มักจะตายหมด
3.สังเกตลักษณะการว่ายน้ำ หรือการทรงตัวของปลา
ควรสังเกตว่าชนิดปลาที่จะซื้อมีลักษณะการว่ายน้ำอย่างไร เช่น พวกปลานีออน
ปลาเสือสุมาตรา ปลาสอด และปลาซิวชนิดอื่นๆ
มักชอบว่ายน้ำวนเวียนไปมาตลอดเวลาบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ
ต้องไม่เซื่องซึมลงไปพักอยู่ก้นตู้หรือลอยตัวอยู่แต่ผิวน้ำ พวกปลาเทวดา
และปลาปอมปาดัวร์ ชอบว่ายน้ำช้าๆ ลักษณะเป็นสง่า ต้องไม่ไปซุกตามหินหรือมุมตู้
4.สังเกตลักษณะการกางของครีบต่างๆ คือ
ปลาปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการเกิดโรค จะกางครีบออกเกือบตลอดเวลา
แต่ปลาที่มีอาการผิดปกติมักจะหุบครีบลู่ติดตัวไม่ค่อยกางออก
5.สังเกตสีสันของปลา
ควรสังเกตเปรียบเทียบปลาในกลุ่มเดียวกัน ปลาที่มีสีสันสดเข้มกว่า ลวดลายเด่นชัด
ย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแกร่งกว่า
6.สังเกตความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ
ควรเป็นปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนตรงตามชนิด ลำตัวโดยเฉพาะคอหางไม่คดงอ ครีบไม่โค้งพับหรือขาดหายไป
7.สังเกตว่าไม่มีปลาตายปะปนอยู่ในตู้ปลาที่จะเลือกซื้อ
หรือไม่มีปลาที่แสดงอาการติดเชื้อปะปนอยู่ นอกจากนั้นเมื่อนำปลามาปล่อยเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้แล้ว
หากพบว่าปลาตัวใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกปลาดังกล่าวออกไปเลี้ยงต่างหาก
จนแน่ใจว่าอาการดีเป็นปกติจึงค่อยนำกลับมาปล่อยเลี้ยงในตู้ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น