วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ภาษาของกระต่าย


1. กระต่ายไม่ค่อยร้อง และสื่อสารกันด้วยกลิ่น
 ถึงแม้ว่ากระต่ายเป็นสัตว์สังคม แต่ว่าพวกเค้าไม่มีการทักทายกันที่ส่งเสียงดังกับสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข หรือแมว นั่นเป็นเพราะว่า พวกเค้าเป็นผู้ถูกล่า และการส่งเสียงดังนั้น ย่อมเป็นการบอกให้สัตว์ต่างๆ ที่เป็นผู้ล่า รู้ถึงตำแหน่งของพวกเค้า ดังนั้นเค้าจะเงียบ และใช้กลิ่นในการสื่อสารกันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งการใช้กลิ่นสำหรับกระต่ายนั้นสำคัญมาก กระต่ายมีจมูกที่ไว นับเป็นการสื่อสารที่พัฒนาไปมากที่สุดของกระต่ายก็ว่าได้ การใช้กลิ่นนั้น ก็เหมือนกับเป็นบันทึกลับ ที่กระต่ายบันทึกเอาไว้ให้แก่กันและกัน เช่น เค้าสามารถจะบอกกันได้ว่า ที่ตรงนี้เป็นอาณาเขตของเค้า โดยไม่ต้องพูดกันซักคำ 
 นอกจากนี้ กลิ่นยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการสื่อสารในที่มืด หรือในยามที่กระต่ายไม่ต้องการให้ตัวเค้าเป็นที่สนใจ ของสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะผู้ล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสัตว์ที่มีผู้ล่ามากมาย เช่น กระต่าย
 นอกจากนี้ กระต่ายนั้น ก็มักจะไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อเค้ารู้สึกเจ็บปวด หรือหวาดกลัว ซึ่งทำให้การแสดงออกต่างๆ ของกระต่ายนั้น มักจะไม่ทำให้เจ้าของสังเกต เพราะว่าการแสดงออก ถึงความอ่อนแอ หากอยู่ในธรรมชาติ เค้าจะตกเป็นเป้าโจมตีของศัตรูได้ง่าย และด้วยความที่เค้าไม่ร้อง เลยทำให้เราคาดคะเนได้ยากว่าเค้าต้องการอะไร หรือป่วยหรือไม่

2. การส่งเสียงร้อง
 ตามปกติกระต่ายจะไม่ค่อยส่งเสียงร้องพร่ำเพรื่อ แต่จะร้องเสียงดังเมื่อเจ็บปวด
3. อาการก้าวร้าว
 ปกติแล้วกระต่ายจะอ่อนโยน สุภาพ แต่หากเค้ากลัวมากๆ เค้าก็อาจจะมีอาการก้าวร้าว เช่น กัด ถีบ หากเป็นแบบนี้ แปลว่าเค้าไม่ไว้ใจเรา เราต้องอาศัยเวลาเพื่อให้เค้ารู้ว่า เรารักและจะไม่ทำร้ายเค้า
4. อาการแสดงความเหนือกว่า
 กระต่ายบางตัว จะชอบแสดงความเหนือกว่า จะข่มกระต่ายด้วยกัน รวมแม้กระทั่งเจ้าของ เราจะสังเกตเห็นง่ายๆ เช่น เค้าพยายามฉี่รดที่นอนเรา หรือว่า พยายามฉี่บนเก้าอี้ตัวโปรดของเรา รวมแม้กระทั่ง การไปฉี่รดมุมกรงของกระต่ายตัวอื่นๆ พฤติกรรมนี้ เป็นการประกาศถิ่น ว่าถิ่นนี้เป็นของเค้าไม่ใช่ของเรา เหมือนๆกับเด็กที่เอาปากกาเมจิก เที่ยวไล่ขีดบริเวณอาณาเขตของตัวเองบนพื้นห้องนั่นแหละ เราสามารถจะแก้นิสัยนี้ได้ โดยหากเค้าฉี่รดที่ๆไม่เหมาะสม เช่น บนเตียง เราก็ต้องกันไม่ให้กระต่ายขึ้นไปบนเตียง เป็นต้น โดยเมื่อเค้าพยายามจะเข้าไปในเขตนั้นเมื่อไร เราก็จับเค้าไปวางไว้ที่อื่นตลอด แล้วเค้าจะรู้เอง
5. กระทืบเท้า
 เมื่ออยู่ตามธรรมชาติ การกระทืบเท้าลงบนพื้น คือ สัญญาณที่แสดงถึงความวิตกหรือหวาดกลัวของพวกเค้า โดยการกระทืบขาหลังของเค้าลงที่พื้น การกระทำเช่นนี้ ไม่เป็นเพียงการเตือนเพื่อนๆของเค้าที่อยู่บนพื้นดิน ถึงความไม่ชอบมาพากลเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนที่ส่งไปยังพื้นดิน ยังเป็นการเตือนกระต่ายที่อยู่ในรังด้วย ว่าอย่าขึ้นมาบนพื้นดิน หรือ บางทีเราจะเจอกระต่ายทำท่านี้เมื่อเราย้ายเค้ามาอยู่ในกรงที่คับแคบกว่าเดิม อาการแบบนี้บางครั้งก็เป็นการข่มขู่ไปด้วย อย่างกระต่ายบางตัวที่ไม่คุ้นเคยกับคน และกลัวคนมาก หากเค้าทำท่านี้แล้วเรายังพยายามเข้าไปจับ เค้าอาจจะต่อสู้ หรือบางครั้ง การกระทืบเท้าก็เป็นการแสดงให้เราเห็นว่า เค้าไม่พอใจอะไรบางอย่าง และพยายามเรียกร้องให้เราทำอะไรให้ เช่น อยากได้อาหารเพิ่ม เป็นต้น
6. ตำแหน่งของหูและหาง
 กระต่ายจะใช้ร่างกายในการสื่อสารกับเรา เมื่อกระต่ายกำลังจะจู่โจม มันจะยืดตัวขึ้นตรง และยืดหางออก แล้วก็กระดกหูไปด้านหลัง แต่หากว่า เค้าเอาหูลู่ไปทางด้านหลัง แต่นั่งอยู่ไม่ได้ยืดตัวขึ้นตรง แปลว่ากำลังตั้งรับ และกระต่ายที่ตั้งรับอยู่อาจจะหาจังหวะจู่โจมกลับได้
7. การทำเครื่องหมาย ด้วยกลิ่นใต้คาง
 กระต่าย โดยเฉพาะเพศผู้ เราจะเห็นบ่อยว่าเค้าชอบเอาคางถูกับโน่นนี่ ไม่ว่าจะเป็นรอบๆบ้าน หรือว่า กของในกรง กระต่ายทั้งสองเพศต่างก็มีลักษณะนิสัยนี้เหมือนกัน แต่กระต่ายตัวผู้นั้นอาจจะกระตือรือร้นมากหน่อยและอาจมีคางที่ชื้นและเหนียว เนื่องจากการหลั่งสารของต่อมกลิ่นของเค้าอยู่ในบริเวณนั้น
 เค้าจะทำเครื่องหมายบ่งบอกพื้นที่ของเค้า เพราะว่ากระต่ายจะมีต่อมกลิ่นอยู่บริเวณหัว และเค้าจะเอาต่อมกลิ่นนี้ ไปถูกับสิ่งของ ที่เค้าคิดว่าอยู่ในอาณาเขตเค้า เพื่อประกาศให้กระต่ายตัวอื่นรู้ว่าเค้าเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังใช้เป็นการจำแนกเพื่อนสมาชิกกระต่าย ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันอีกด้วย เหมือน ๆ กับการที่สมาชิกในกลุ่มเดียวกัน จะมีป้ายชื่อหรือเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงกลุ่มที่ตัวเองอยู่ วิธีการนี้ยังเป็นการทำให้กระต่ายมั่นใจว่าเค้ากำลังอยู่กับเพื่อนๆในอาณาเขตของเค้า และยังช่วยขัดขวางการรุกรานอีกด้วย



8. การอึไปรอบๆ
 นอกจากนี้ กระต่ายยังสร้างกลิ่นไว้กับมูลของพวกเค้า โดยจะทิ้งมูลเอาไว้ในขณะที่เดินทางไปรอบๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหาอาหาร (มูลของกระต่ายนั้นเป็นปุ๋ยอย่างดี เนื่องจากมีแร่ธาตุไนโตรเจนสูง) และยังจะขุดดินบริเวณใกล้ๆ กับขอบอาณาเขตของเค้า แล้วทิ้งมูลเอาไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์
อย่างไรก็ตาม นิสัยในการขับถ่ายอย่างหนึ่งของกระต่ายที่น่าประทับใจ ก็คือการใช้พื้นที่ที่เป็นห้องน้ำ
ซึ่งเป็นนิสัยตามธรรมชาติ ที่ทำให้เราสามารถสอนกระต่ายให้เข้าห้องน้ำได้ค่อนข้างง่าย ตามธรรมชาติ ห้องน้ำของกระต่ายจะถูกใช้โดยสมาชิกทุกตัวภายในกลุ่ม และอาจถูกสร้างขึ้นมาจาก กองมูลของพวกเค้า โดยทั่วไปห้องน้ำเหล่านี้จะอยู่ในบริเวณที่สูง ห้องน้ำนี้จะเป็นสัญลักษณ์ให้กับกระต่ายทั้งในด้านการมองเห็นและกลิ่น สำหรับเหล่ากระต่ายแล้ว ห้องน้ำนี้ก็เหมือนเป็นการประกาศว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นของกระต่ายอีกกลุ่มไหนๆ และเป็นการเตือนหากพวกเค้าว่า กำลังเข้าใกล้อาณาเขตของกระต่ายกลุ่มอื่นอยู่
9. การทำเครื่องหมายด้วยกลิ่นปัสสาวะ
 วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่กวนใจเรา ก็คือการปัสสาวะ กระต่ายนั้นไม่เหมือนกับสุนัขหรือแมวหรอก ที่จะปัสสาวะใส่วัตถุต่างๆในอาณาเขตของตัวเองเท่านั้น แต่ว่ากระต่ายนั้นจะปัสสาวะใส่กันและกัน และในบางครั้งยังจะปัสสาวะใส่คนด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่บ่อยก็ตาม นิสัยเหล่านี้จะพบบ่อยในกระต่ายตัวผู้ การปัสสาวะ บางครั้งก็จะหมายถึง กระต่ายที่เป็นลูกน้อง หรือผู้รุกราน แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการขอความรัก การขอความรักนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับกระต่าย และกระต่ายตัวผู้ก็จะเอาจริงเอาจังกับมันมากทีเดียว เวลาที่กระต่ายตัวผู้พบตัวเมียที่ถูกใจ อันดับแรกเค้าจะทำการขอความรักโดยการเดินตามตัวเมียไป หลังจากนั้น อาจเป็นการเดินเข้าๆออกๆจากตัวเมียในขณะที่ยกหางของมันขึ้น หากกระต่ายตัวเมียยังไม่สนใจ เค้าจะเรียกร้องความสนใจมากขึ้น โดยการวิ่งเลยตัวเมียไปและปัสสาวะใส่ กระต่ายเลี้ยงบางส่วน จะเรียนรู้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่พวกเค้าสามารถใช้เรียกร้องความสนใจจากเจ้าของได้
10. การเลีย
 เคยเห็นแม่กระต่ายไหมคะ เค้าจะแสดงความรักกับลูกๆ ด้วยการเลีย หากกระต่ายเลียใครแล้วล่ะก็ เป็นการบอกว่าเค้ารักคนๆนั้นค่ะ
11. การเอาหัวดันเรา
 กระต่ายจะเอาส่วนจมูกดันเรา เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเวลาที่เค้าพยายามข่วนพื้น โดนใช้ขาหน้า ท่าทางเหล่านี้ก็เพื่อให้เราสนใจ (คล้ายๆการสะกิดของคนนั่นหละค่ะ) แต่บางครั้งท่าทางคล้ายๆกันนี้ ก็เป็นการบอกให้เราหยุดได้แล้ว เช่น หากเรายัดเยียดอาหารกระต่าย แต่กระต่ายอิ่มแล้ว กระต่ายอาจจะพยายามเอาช่วงจมูกดันมือเราออกไป มันเป็นการบอกเราว่า "ขอบคุณ แต่ว่าพอได้แล้วหละ อิ่มแล้ว"
12. การงับหรือการแทะ
 บางครั้งกระต่ายจะงับเรา เพื่อเรียกร้องให้เราสนใจเค้า หรืออยากให้เราทำอะไรบางอย่างให้ การงับไม่ใช่การกัดนะคะ คนละแบบกับการกัดเพื่อต่อสู้ค่ะ ซึ่งบางทีเค้าก็ไม่รู้หรอกค่ะ ว่าการทำแบบนั้นบางครั้งทำให้เราเจ็บ เค้าเพียงแต่ต้องการเรียกร้องความสนใจค่ะ เชื่อหรือไม่คะ ว่ากระต่ายไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เราเจ็บ ซึ่งอันนี้แก้ได้โดย หากเราเจ็บและร้องออกมาทุกครั้งที่เค้างับแรงๆ กระต่ายจะเรียนรู้เองว่าจะต้องงับเบากว่าเดิม หรือไม่ก็เลิกงับไปเลยก็มีค่ะ แต่บางครั้งอาการงับนี่ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่า เช่น หากกระต่ายพยายามงับเรา เมื่อเรานั่งบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง นั่นคือกระต่ายพยายามจะบอกว่า "เก้าอี้นี่เป็นที่ของกระต่ายนะ และคุณควรจะออกไป" วิธีแก้ก็คือ ให้ร้องให้กระต่ายรู้ว่าเราเจ็บ และวางกระต่ายลงบนพื้น และค่อยๆเอามือกดหัวกระต่ายลงเบาๆ อาการนี้เป็นอาการบอกกระต่ายว่า "เราเหนือกว่า เราคือเจ้านายนะ" ให้ทำแบบนี้หลายๆครั้งจนกว่ากระต่ายจะเลิกท้าทายเรา หากทำยังงั้นแล้วเค้ายังไม่เข้าใจ ก็ให้เราเอาเค้าไปไว้ในกรงซักพัก เพื่อให้กระต่ายรู้ได้เองว่า "ไม่ใช่หรอก ที่ของกระต่ายคือในกรงต่างหาก"
13. นอนเหยียดยาว
 หากกระต่ายนอนโดยยืดขาออกจนสุด หูตกลงมาราบกับลำตัว ตาหรี่ลงครึ่งนึง แปลว่าอยากจะนอนพักผ่อน โดยไม่ต้องการการรบกวน
14. กัดขนตัวเองทิ้ง
 หากกระต่ายเพศเมีย กัดดึงขนของตัวเองออกมาสะสมไว้ในปาก แล้วเอาไปซุกไว้ตามที่ต่างๆ วิ่งไปวิ่งมารอบๆ หรือคาบสิ่งของหรือเศษผ้ามากองไว้ แปลว่ากระต่ายเตรียมจะทำรังคลอดลูกที่นั่น


15. ยืนด้วยขาหลัง ยกขาหน้าขึ้นกลางอากาศ
 เป็นท่าขอ เช่น กระต่ายอยากจะได้อะไรที่อยู่ในมือเรา หรืออยู่สูงกว่า เช่น ขออาหาร
16. งับสิ่งของแล้วเหวี่ยงขึ้นลงไปมา
 เป็นการแสดงอาการหงุดหงิด
17. อาการหาคู่
 กระต่ายที่โตขึ้น จะมีฮอร์โมนมาผลักดัน แล้วพยายามหาคู่ผสมพันธุ์ แต่ว่าไม่มีคู่ กระต่ายจะหงุดหงิด และจะแสดงอาการก้าวร้าวออกมา ส่วนใหญ่จะแสดงอาการ คือ วิ่งวนไปมารอบๆเท้าเจ้าของ พยายามปีนเจ้าของหรือสิ่งของ และมีกัดเจ้าของในบางครั้ง ซึ่งอาการเหล่านี้แก้โดยการ ทำหมันค่ะ
18. การขุด
 การขุดเป็นนิสัยตามธรรมชาติ เพราะว่ากระต่ายจะอาศัยอยู่ในโพรง เค้าจึงมักจะขุดโน่นนี่ แต่หากการขุดของกระต่ายทำให้สิ่งของในบ้านเสียหาย เราสามารถจะแก้ได้โดย เบี่ยงความสนใจของเค้า และเอากล่องเปล่ามาให้เค้าแล้ววางเค้าลงไป ให้เค้าขุดกล่องเปล่าเล่นแทน พอเค้าขุดกล่องเปล่าเราก็ให้ขนมเค้าเป็นรางวัล และขัดขวางเค้าทุกครั้งที่เค้าพยายามจะขุดสิ่งของหรือบริเวณที่เราไม่อยากให้ขุด ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆเค้าจะเข้าใจเอง ว่าหากอยากขุดก็ควรจะขุดในกล่องที่เราเตรียมไว้ให้
19. อาการหมอบกดตัวเองลงกับพื้น
 กระต่ายที่กดตัวเองลงกับพื้น เป็นอาการที่เกิดจากความกลัว เหมือนเวลาเรากลัวอะไรมากๆ เราจะพยายามหดตัวให้เล็กที่สุด กระต่ายก็เหมือนกัน
20. การปีนขึ้นหลังตัวอื่น
 กระต่ายที่โตกว่า บางครั้งจะปีนขึ้นไปบนหลังตัวอื่น แม้ว่าบางทีจะเป็นเพศเดียวกัน นั่นไม่ได้แปลว่า กระต่ายเป็นเกย์ แต่ท่าการปีนที่คล้ายการผสมพันธุ์นี้ เป็นอาการข่มตัวอื่น กระต่ายตัวที่ปีนขึ้นหลังตัวอื่นแบบนี้ เพื่อเป็นการบอกว่า "ฉันเหนือกว่า"
21. นอนเอาหัวอิงกัน
 หากกระต่ายนอนพิงกันเอง หัวเกยกับอีกตัว แปลว่ากระต่ายทั้งคู่เข้ากันได้ดี

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการเลือกสุนัข


1.สุนัขต้องร่าเริง ดูกระฉับกระเฉง ชอบเล่น ไม่อยู่นิ่ง ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว หรือตื่นตกใจเกินเหตุ

2.มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีอายุสมขนาดของตัวที่ควรจะเป็นไหม ไม่ใช่ตัวเล็กหรือใหญ่เกินไป ดู   สมส่วน มีชีวิตชีวา ไม่หงอยเหงาเศร้าซึม ท่าทางการเดินหรือวิ่งเป็นปกติ ขาหน้าต้องตรง ขาหลังต้องไม่ กางออกเหมือนขาเป็ดหรือขาวัว นิ้วเท้าหน้าหลังจะต้องชี้ไปข้างหน้า ถ้าลูกสุนัขตัวนั้นเดินแล้วขากาง เหมือนเป็ด ย่อมบ่งบอกว่าอนาคตอาจพิการได้ ขาแข็งแรงมีกล้ามเนื้อ ขาใหญ่ ลำตัวสั่น หางจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงจนเกินไป เมื่อยกลูกสุนัขขึ้น โดยใช้สองมือประคองที่ขาหนีบหน้าของสุนัขเป็นปกติดีไม่มีอาการใดๆที่แสดงว่าเจ็บป่วย 

3.เปิดดูภายในช่องหู ควรจะแห้ง สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น ปราศจากก้อนแข็งๆ รอยแผล และสิ่งสกปรก จมูกเย็น ชื้น (ถ้าแห้งแปลว่าไม่สบาย) ไม่มีน้ำมูก

4.เปิดปากสำรวจลิ้น เหงือก และฟัน โดยลิ้นและเหงือกควรมีสีชมพู และเขี้ยวควรอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสม

5.ดวงตาต้องสดใสเป็นประกาย สว่าง ไม่ขุ่นมัว สะอาด และปราศจากขี้ตาและน้ำตา สุนัขควรลืมตาได้เป็นปกติ ไม่มีอาการกระพริบตาบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงสุนัขที่ใช้อุ้งเท้าแคะตาบ่อยๆ

6.ขนเป็นเงา นุ่ม ใช้ฝ่ามือลูบขนสุนัขให้ทั่ว เพื่อสำรวจผิวหนัง รอยแผลเป็น ฝุ่นดำๆ ซึ่งเป็นไข่ของเห็บหรือหมัด ให้ดูด้วยว่าขณะลูบ สุนัขแสดงอาการเจ็บปวดหรือไม่

7.ดูใต้หางของสุนัขว่า ก้นปราศจากรอยเปื้อนของอุจจาระ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุนัขกำลังท้องเสีย

8.สุนัขไม่ไอหรือแสดงอาการอื่นๆ ที่ผิดปกติ  เช่น ท้องไม่โตหรือป่องเกินไป เพราะอาจมีพยาธิ

9.ส่วนเรื่องของสี ในการดูลูกสุนัขนั้นไม่ใช่ว่าจะเข้มหรืออ่อนเพียงอย่างเดียว ควรดูตำแหน่งของสีหรือจุดแต้มสีด้วยว่าออกโทนเดียวหรือเปล่า สีเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม สุนัขบางตัว รูปร่างทุกอย่างสวยหมด แต่ตำแหน่งของสีผิดเพี้ยนไป ก็จะดูไม่สดใสเท่าไร

วิธีการเลือกแมว


1.ค้นหาข้อมูลของพันธุ์ที่เหมาะสมกับคุณ ดูลักษณะนิสัยของมันว่าเข้ากับคุณได้หรือเปล่า แล้วมาดูว่าตัวคุณนั้นพร้อมแค่ไหน ที่จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีกในแต่ละวัน มีเวลาให้สัตว์เลี้ยงหรือเปล่า เพราะต้องคอยให้อาหาร ต้องคอยเก็บอุจจาระ ต้องเล่นกับมัน ถ้าคิดว่าทำได้ก็มาดูข้อต่อไปกัน

2.เลือกพันธุ์แล้วก็ต้องมาเลือกเพศดูว่าชอบตัวผู้หรือตัวเมีย

3.ถ้าต้องการเลี้ยงแมวพันธุ์แท้ ก็จะต้องศึกษาดูลักษณะพันธุ์ที่ถูกต้อง ราคาอาจจะต้องติดตามจากหนังสือ หรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ

4.ขั้นตอนต่อไปก็ต้องไปเลือกฟาร์ม หรือเลือกร้านที่ดูสะอาด ไม่มีสัตว์วางไว้เกะกะมากมายหลายชนิดเกินไป เมื่อเลือกร้านได้แล้วเราก็เข้าไปดูกัน

5.เลือกหาแมวพันธุ์ที่คุณต้องการ หากต้องการพันธุ์แท้ก็ต้องดูที่มี Pet Degree หรือใบรับรองประวัติสัตว์ ว่าสายพันธุ์ของพ่อแม่มาจากทางไหน ตรงตามพันธุ์หรือไม่

6.จากนั้นก็สำรวจสภาพร่างกายของมันว่าดูแข็งแรงหรือเปล่า โดยดูดังนี้

 - ดวงตาแจ่มใส เป็นประกายชัดเจน ไม่มีขี้ตา

 - ไม่มีหนังตาที่สามยื่นแหลมออกมาให้เห็น

 - ไม่ผอมจนเห็นซี่โครง

 - หูต้องสะอาด ไม่มีขี้หู ไม่มีตัวไรอยู่ในหัว (ถ้ามีแมวจะสะบัดหัวบ่อยๆ )

 - ไม่มีหมัดวิ่งไปมาตามร่างกาย

 - ภายในปากและเหงือกต้องไม่มีการอักเสบบวมแดง

 - ขนไม่ร่วง

 - ร่าเริงแจ่มใส ไม่ตื่นตกใจง่าย มีความสนอกสนใจสิ่งแวดล้อม

 - จากนั้นให้ดูใบสุขภาพ ประวัติวัคซีนแมว ทุกตัวจะต้องได้รับการถ่ายพยาธิทุกๆ 3 เดือน มี
การฉีดวัคซีนไข้หัดแมว (Feline Panleukopenia) โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และอาจจะมีการฉีดวัคซีนโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย (Feline Leukemia)

8.ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อเลือกและซื้อแมวได้แล้ว ควรพาเจ้าเหมียวไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ และขอคำแนะนำเพิ่มเติมอีกครั้ง

วิธีการเลือกกระต่าย


ตา : ดวงตากระต่ายบอกได้หลายอย่าง เช่น กระต่ายที่ป่วยดวงตาจะเซื่องซึม ขอบตาจะมีสะเก็ดหรือแห้ง และมีขี้ตา กระต่ายที่สุขภาพดี แววตาจะร่าเริงแจ่มใส ขอบตาจะไม่แห้งผิวบริเวณนั้นจะมองดูปกติดี และไม่มีขี้ตาให้เห็นเลย

จมูก : จมูกกระต่ายโดยปกติจะชุ่มชื่นเล็กน้อยและไม่แห้งกร้าน กระต่ายที่ป่วย จะมีอาการของหวัด จมูกเปียกชื้น หรือไม่ก็แห้งเกินไป สังเกตุกันให้ดีๆ เรื่องนี้ดูไม่ยากแต่สำคัญ เพราะกระต่ายที่ป่วยเป็นโรคปอด อาการจะเริ่มจากการเป็นหวัด

ปากและฟัน : สำคัญมากในการเลือกซื้อกระต่าย แต่ก็ไม่เคยเห็นผู้ซื้อคนไหนจะตรวจสอบเลย เป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้าม ทั้งๆที่มันสำคัญที่สุด กระต่ายที่มีฟันไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการ บิดเบี้ยว เอียง ยื่น สารพัดปัญหาเหล่านี้ จะทำให้กระต่ายกินอาหารไม่ได้ตามปกติ อีกทั้งเจ้าของยังต้องตัดฟันให้กับกระต่ายทุกๆ 2 สัปดาห์ ทรมานทั้งกระต่ายทั้งเจ้าของ รู้แล้วก็ควรระมัดระวังในการเลือกกระต่ายให้ดี

หู : หูกระต่ายที่ดีต้องสะอาด ปราศจากคราบขี้หู ผิวหนังต้องสดชื่น ขอบ ๆ ริมหูต้องไม่แข็งหรือตกสะเก็ด ขนต้องขึ้นปกติไม่มีส่วนไหนที่มองเห็นร่องรอยของขนที่หูร่วง มองเข้าไปในรูหูของกระต่ายต้องปกติไม่มีก้อนหรือร่องรอยของเห็บ ไร ที่อาจจะซุกซ่อนอยู่ได้

ท้อง : มันบอกอะไรเราบ้าง เวลาคุณลูบท้องกระต่าย กระต่ายที่สุขภาพดีจะไม่มีก้อนเนื้อแข็ง ๆ สะดุดมือ และกระต่ายจะไม่แสดงอาการอะไรออกมา อาจจะแค่สดุ้งเล็กน้อย แต่ถ้ากระต่ายที่ป่วยอยู่ท้องจะแข็ง ๆ หรือมีก้อนอะไรบางอย่างสะดุดมือเรา อีกทั้งกระต่ายจะงอตัวจนผิดสังเกตุ นั่นทำให้เราตั้งข้อสงสัยไว้ได้เลย

เท้า : สังเกตุว่าเท้าคู่หน้า และคู่หลังเป็นปกติ สามารถเดิน กระโดดได้อย่างดี เท้าคู่หลังต้องไม่มีอาการแบะ ถ่าง แป หรือเดินไม่สะดวก ขนใต้เท้าคู่หลังทั้งสองข้างต้องหนาและไม่มีแผลใต้เท้า ลองปล่อยให้กระต่ายวิ่งเล่นโดยอิสระเพื่อดูอาการ และการทรงตัวของกระต่ายด้วย

เล็บเท้า : ตรวจดูนิ้วเท้า เล็บเท้าต้องครบถ้วน สมบูรณ์ดี ตามซอกแล็บต้องไม่มีร่องรอยของเชื้อรา กลาก หรือแผลใดๆ หนังหุ้มเล็บต้องสุขภาพดีไม่ตกสะเก็ดเป็นแผล อับเสบ หรือผื่นคัน

เส้นขน : กระต่ายสุขภาพดีต้องมีเส้นขนที่ไม่หยาบกร้าน นุ่ม สลวย (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ไม่หลุดร่วงง่าย มีความหนาแน่นของขน สีสันชัดเจนและถูกต้องตามมาตรฐานสายพันธุ์ ผิวหนังใต้ขนต้องไม่มีสะเก็ด แผล ผื่นคัน หรือแข็งกระด้าง อย่าอายที่จะสำรวจด้วยความละเอียดรอบคอบ ใช้มือลูบขนกระต่ายให้ทั่วตัว สัมผัสที่ผิวหนังให้ทั่ว เปิดเส้นขนดูหากจำเป็น และถ้าหากคุณกำลังจะซื้อกระต่ายสายพันธุ์ขนยาวอยู่ล่ะก้อ ตรวจสอบอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะขนที่ยาวนั้นสามารถซ่อนอะไรที่เราไม่ต้องการไว้ได้มากทีเดียว

ลำตัว : สุดท้ายก็มาตรวจสอบความสมบูรณ์ของกระต่ายที่ลำตัว จับบริเวณลำตัวด้านหลังของกระต่ายเนื้อต้องแน่น เวลาคลำกระดูกสันหลังต้องไม่ปูดโปน กระต่ายจะต้องไม่อ้วน หรือผอมจนเกินไป บริเวณสะโพกต้องมีกล้ามเนื้อ สัมผัสด้วยมือแล้วจะรู้สึกถึงความสมบูรณ์ของลำตัวได้อย่างชัดเจน

ลักษณะโดยรวม : กระต่ายที่ดีจะต้องร่าเริง ตื่นตัว และดูแลทำความสะอาดตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ กระต่ายที่ป่วยจะเซื่องซึม มองดูหงอยๆ ไม่ค่อยขยับตัวไปไหน ควรเลือกกระต่ายที่มีการตื่นตัวสูง เพราะจะมีสุขภาพที่แข็งแรง

วิธีการเลือกปลาสวยงาม


1.ควรเลือกซื้อปลาในเวลากลางวัน เนื่องจากจะสังเกตสีสันที่แท้จริงของปลาได้ดี แต่ในปัจจุบันการจัดตู้ปลามีความทันสมัยมากขึ้น โดยร้านขายปลาสวยงามมักจะติดหลอดไฟพวกแสงสะท้อน แล้วเปิดไว้ตลอดเวลาเพื่อทำให้เห็นปลามีสีสดใสมากกว่าที่เป็นจริง

2.สังเกตสภาพของตัวปลา คือ เลือกปลาที่ไม่มีร่องรอยความบอบช้ำ เช่น เกล็ดหลุด ครีบแหว่ง หรือมีแผลตามลำตัว เพราะอาจเป็นปลาที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการลำเลียง หรือมีการระบาดของโรคพยาธิเกิดขึ้น ถ้าเลือกซื้อปลาที่บอบช้ำมาเลี้ยงอาจเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ ยิ่งถ้ามีการระบาดของโรคพยาธิอยู่แล้ว ปลาที่เลือกซื้อมาก็มักจะตายหมด

3.สังเกตลักษณะการว่ายน้ำ หรือการทรงตัวของปลา ควรสังเกตว่าชนิดปลาที่จะซื้อมีลักษณะการว่ายน้ำอย่างไร เช่น พวกปลานีออน ปลาเสือสุมาตรา ปลาสอด และปลาซิวชนิดอื่นๆ มักชอบว่ายน้ำวนเวียนไปมาตลอดเวลาบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ต้องไม่เซื่องซึมลงไปพักอยู่ก้นตู้หรือลอยตัวอยู่แต่ผิวน้ำ พวกปลาเทวดา และปลาปอมปาดัวร์ ชอบว่ายน้ำช้าๆ ลักษณะเป็นสง่า ต้องไม่ไปซุกตามหินหรือมุมตู้

4.สังเกตลักษณะการกางของครีบต่างๆ คือ ปลาปกติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการเกิดโรค จะกางครีบออกเกือบตลอดเวลา แต่ปลาที่มีอาการผิดปกติมักจะหุบครีบลู่ติดตัวไม่ค่อยกางออก

5.สังเกตสีสันของปลา ควรสังเกตเปรียบเทียบปลาในกลุ่มเดียวกัน ปลาที่มีสีสันสดเข้มกว่า ลวดลายเด่นชัด ย่อมมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแกร่งกว่า

6.สังเกตความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ควรเป็นปลาที่มีอวัยวะครบถ้วนตรงตามชนิด ลำตัวโดยเฉพาะคอหางไม่คดงอ ครีบไม่โค้งพับหรือขาดหายไป

7.สังเกตว่าไม่มีปลาตายปะปนอยู่ในตู้ปลาที่จะเลือกซื้อ หรือไม่มีปลาที่แสดงอาการติดเชื้อปะปนอยู่  นอกจากนั้นเมื่อนำปลามาปล่อยเลี้ยงในตู้ที่เตรียมไว้แล้ว หากพบว่าปลาตัวใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบแยกปลาดังกล่าวออกไปเลี้ยงต่างหาก จนแน่ใจว่าอาการดีเป็นปกติจึงค่อยนำกลับมาปล่อยเลี้ยงในตู้ต่อไป

วิธีการเลือกแฮมสเตอร์

Click here to see a large version

ควรเลือกซื้อตอนช่วงเย็นๆ
 พยายามเลือกซื้อแฮมสเตอร์ในช่วงเวลาเย็นๆ เพราะแฮมสเตอร์จะนอนกลางวัน เค้าจะงัวเงียทำให้ดูยากว่าป่วยหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นช่วงตอนเย็นเค้าจะคึกคัก วิ่งไปมา ทำให้เราเลือกง่ายกว่า

ควรจะเลือกแฮมสเตอร์ที่สุขภาพดี คือ
  • แฮมสเตอร์ควรจะสะอาด ขนต้องสะอาด ไม่มีอุจาระเปื้อนหรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • ไม่ผอมผิดปกติ ไม่ซึม
  • ต้องไม่มีบาดแผล ทั้งตัวและนิ้วเท้า
  • หูต้องสะอาด ทั้งด้านในและนอก
  • ตาต้องสดใส และสะอาด
ควรจะเลือกแฮมสเตอร์ที่อายุระหว่าง 4-7 สัปดาห์
เพราะเชื่องง่าย ถ้าเราเลี้ยงเค้าตั้งแต่เล็กๆ

เลือกตัวผู้หรือตัวเมียดี
เหมือนกัน ตัวผู้หรือตัวเมียนิสัยไม่ได้แตกต่างกัน

เลี้ยงหลายตัวได้หรือไม่
 อาจจะเลี้ยงแฮมสเตอร์มากกว่า 1 ตัวในกรงได้แต่ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของ Hamster ด้วย ถ้าเป็น Dzungarian Dwarf Hamsters หรือ Short Dwarf Hamsters และ Russian Hamsters แล้วล่ะก็ เค้าเป็นสัตว์สังคมพอสมควร สามารถจะเลี้ยงไว้ด้วยกันได้ ซึ่งเราอาจจะเลี้ยง 1-2 ชนิดนี้ไว้ด้วยกันก็ยังได้ แต่ทางที่ดี ควรจะเริ่มเลี้ยงเค้าไว้ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งแฮมสเตอร์อื่นๆทุกชนิด ควรจะแยกกันเลี้ยง เพราะเค้าจะหวงเขตแดนของเค้ามาก

เลือกแฮมสเตอร์ที่ไม่กัด
 ซึ่งเวลาที่เราไปเลือกซื้อหนูแฮมสเตอร์ให้ลองเอานิ้วแหย่ลงไป เค้ามักจะวิ่งมาหามือเราเพราะคิดว่ามีอาหาร บางตัวก็จะไต่ขึ้นมา ให้เราดูว่าตัวที่วิ่งมาหา บางตัวจะกัด บางตัวจะขออาหารเฉยๆ ถ้าตัวไหนกัดก็อย่าซื้อตัวนั้น ให้เลือกตัวที่ไม่กัดจะดีกว่า

อย่าใส่กล่องกระดาษกลับบ้าน ถ้าต้องเดินทางนานๆ
 เวลาที่เราซื้อแล้ว ร้านขายสัตว์เลี้ยง อาจจะเอาแฮมสเตอร์ใส่กระกระดาษให้เรานำกลับบ้าน แต่ถ้าเราต้องใช้เวลาเดินทางนาน แฮมสเตอร์อาจจะกัดแทะทะลุกล่องออกมา และหลบหนีหายไปได้ เราควรจะขอผู้ขายให้เปลี่ยนจากกล่องกระดาษมาใส่ในภาชนะพลาสติกแทน เช่น ตอนที่เราซื้อ ผู้ขายก็เอาแฮมสเตอร์ใส่ขวดน้ำพลาสติกที่ตัดครึ่งขวด โดยไม่มีฝาปิด ใส่แฮมสเตอร์ให้พร้อมทั้งปูขี้เลื่อยที่ก้นขวดให้ด้วย

วิธีการเลือกเฮดจ์ฮอก (เม่นแคระ)


 เราควรเลือกเม่นแคระที่มีความร่าเริง โดยการสังเกตนั้นเราจะดูได้จากการกินของเค้า และลักษณะการเดินด้วย เม่นที่ดีควรเดินตรงๆ ไม่อ้วนจนเกินไป ดวงตาใจ ไม่มีขี้ตา ลักษณะขนเป็นระเบียบ ไม่ร่วงง่าย ไม่เป็นโรค ไม่มีผื่นแดงที่ใต่ท้อง ถ้าเลือกที่เชื่องๆได้จะดีมาก เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลา ทำความคุ้นเคยอะไรกันมากนัก

  เรื่องของ สี / เพศ / สายพันธุ์ / อายุ / ราคา
 สิ่งต่างๆเหล่านี้อยู่ที่ตัวผู้เลี้ยง ควรเลือกสีที่่ชอบ ส่วนเรื่องของสายพันธุ์นั้น ก็อยู่ที่เพื่อนๆว่าจะหาซื้อจากที่ไหน และสายพันธุ์จากไหน ก็อยู่ที่เพื่อนๆ เรื่องของอายุ การที่เลือกตัวที่มีอายุพร้อมผสม ก็มีข้อดีอยู่ที่ว่า เอามาเลี้ยงอีกไม่นาน ก็อาจจะได้ลูกเลย แต่ก็เสี่ยงกับการถูกหลอก โดยผู้เลี้ยงบางคน อาจจะ เอาเม่นที่แก่ มาหลอกขายก็ได้ เรื่องแบบนี้อยู่ที่ความเชื่อถือ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

  ราคา
 ส่วนเรื่องราคา นี่ก็อยู่ที่ว่าเพื่อนๆแต่ละคน มีงบในการที่จะเลือกซื้ออยู่เท่าไหร่ เพราะไม่ใช่ว่าเราจะต้องซื้อ แต่เม่นเท่านั้น เรานั้นจะต้อง ซื้อกรง และอุปกรณ์ต่างๆอีกด้วย

วิธีการเลือกชูการ์ไกรเดอร์


1.วิธีเลือกซื้อชูการ์เบื้องต้น 
 1.1 แนะนำให้ซื้อจากกลุ่มผู้เลี้ยงตามบ้าน เพื่อให้ได้ลูกชูการ์ที่แข็งแรง และปลอดโรค (ในระดับหนึ่ง) แต่ถ้าหากหาชูการ์บ้านไม่ได้จิงๆ ทางเลือกต่อไปคือหาฟาร์มชูการ์ที่ไว้ใจได้
 1.2 ฟาร์มชูการ์ ที่ควรพิจารณา คือ มีชื่อเสียงพอสมควร หรือเปิดมานานแล้ว เป็นที่รู้จักและกลุ่มผู้เลี้ยงให้การยอมรับ สามารถค้นหาได้ตามบอร์ดซื้อ-ขายในเวปต่างๆ 
 1.3 หากจำเป็นต้องซื้อจาก jj (จตุจักร) ต้องบอกก่อนเลยการเลือกซื้อสัตว์เลี้ยงทุกชนิด จากจตุจักรต้องทำใจอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งรวบรวม สัตว์นานาชนิด และด้วยพื้นที่ ที่อากาศถ่ายเทได้ยากและมีบุคคลเดินเลือกซื้อของเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเชื้อโรคค่อนข้างเยอะ เมื่อเชื้อโรคเจอกับอุณหภูมิที่ร้อนชื้นเหมาะกับการเจริญเติบโตได้ดี และขยายส่งต่อได้ในวงกว้างอาศัยการผ่านมือสัมผัสของกลุ่มลูกค้าจากตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่ง ทำให้ขยายไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วดังนั้นก่อนจะซื้อสัตว์เลี้ยงจาก จตุจักร จึงมีข้อให้สังเกตเบื้องต้นโดยพิจารณาดังต่อไปนี้
1.3.1 สถานที่เลี้ยง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยง หรือโชว์
 1.3.1.1 เลือกดูร้านที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
 1.3.1.2 ดูกรงที่ใส่น้องชู โดยพิจารณาถึง ความสะอาดและโปรง
 1.3.1.3 ดูร้านที่เอาใจใส่ พิจารณาจากภายในกรง ควรจะมีผ้า หรือทิชชู รองภายในเพื่อให้น้องชูมีที่ซุกตัวนอน 
 1.3.1.4 ปริมาณน้องชูในแต่ละกรง ต้องมีไม่เยอะมากนัก 
 1.3.1.5 วัสดุรองกรงภายในร้าน ควรเป็นผ้า พรม ทิชชู ที่สะอาดไม่สกปรก และไม่ควรเป็นขี้เลื่อย 

2.สังเกตด้านกายภาพของน้องชู
 2.1 ดูน้องชูที่ลืมตาเต็มที่แล้ว ดวงตาจะกลมโตเปิดกว้าง หากน้องชูลืมตาเพียงเล็กน้อย หรือครึ่งเดียว แสดงว่าน้องชูตัวนั้นยังเด็กมาก ยังโตไม่เต็มที่
 2.2 ดูที่ขนบริเวณลำตัว ขนต้องขึ้นเต็มทั้งตัวทั้งบนแผ่นหลัง และใต้ท้อง หากพบน้องชูที่ใต้ท้องยังเห็นเป็นหนังแดงๆ ไม่มีขนปกคลุม แสดงว่าน้องชูตัวนั้นยังไม่พร้อมแยก แต่ผู้ขายรีบขายเกินไป
 2.3 ดูบริเวณก้นน้องชู ว่าแห้งสะอาดดีหรือไม่ หากก้นเปียกชื้นหรือมีอุจจาระติดบริเวณโคนหาง ไม่ควรเลือกมา เพราะน้องชูตัวนั้นอาจจะมีอาการท้องเสีย ติดเชื้อบิด เชื้อแบคทีเรีย หรือมีปัญหาภายในร่างกาย
 2.4 ดูอาการที่น้องแสดงออก ควรเลือกที่มีการไต่มือ ร้องโวยวาย หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อเราจับตัว ไม่ควรเลือกน้องชูที่ซึม เซื่อง เพราะเค้าอาจป่วยอยู่
 2.5 เอามือแตะบริเวณจมูก ว่าชื้นแฉะหรือไม่ หากมีจมูกที่ชื้นๆ แสดงว่าน้องชูยังสุขภาพดีอยู่ แต่ถ้าพบน้องชูที่จมูกแห้ง หรือมีน้ำไหลออกจากจมูก ลักษณะเช่นนี้ไม่ดีแน่ เพราะน้องเค้าอาจจะป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ 
  สุดท้าย ขอให้สนุกกับการเลือกซื้อน้องชูการ์
 สิ่งสำคัญ คือ ความรัก ความเอาใจใส่ อย่ารับน้องมาเพียงเพื่อต้องการเลี้ยงเป็นแฟชั่น หรือซื้อมาเพื่อเป็นของขวัญให้บุคคลที่เรารัก โดยไม่ได้ถามเค้าเลยว่าเค้าต้องการภาระที่เราจะมอบให้หรือไม่ 1 ชีวิตมีคุณค่า มากกว่าเป็นเพียงของเล่น หรือของขวัญ เมื่อรับเค้ามาแล้ว เค้าก็มีเพียงเราที่เป็นเพื่อน เป็นคนดูแล ควรมอบความรักให้เค้า และดูแลเอาใจใส่ให้ดีที่สุด อย่าเห็นว่าสิ่งมีชีวิตเป็นเพียงตัวแก้เหงา และควรศึกษาข้อมูลในการเลี้ยงดูในละเอียดก่อนที่จะรับน้องชูมา เพื่อความพร้อมของผู้เลี้ยงและความสุขของเจ้าตัวน้อย

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

รวมภาพสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก

   

       สัตว์เลี้ยงนี้มีหลายชนิดอยู่ที่ว่าเราจะนำสัตว์ชนิดไหนมาเลี้ยง แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมเลี้ยงสุนัข แมว และปลา การเลือกเค้ามาเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว การตัดสินใจก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการนำเค้าเข้ามาเลี้ยงเป็นเพื่อนยามเหงา หรือเป็นเพื่อนเล่น